หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

หลักการและสาระสำคัญของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


วัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ คือรักษาความเข้มข้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย เพื่อให้ระบบนิเวศน์ธรรมชาติสามารถปรับตัวได้ และเพื่อเป็นการประกันว่าจะไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแต่ไม่ได้กำหนดระดับหรือปริมาณก๊าซที่จะรักษาปริมาณไว้เป็นตัวเลขที่แน่นอน
หลักการของอนุสัญญาฯ

อนุสัญญาฯมีหลักการที่สำคัญดังนี้

  1. “หลักการป้องกันไว้ก่อน” ภายใต้หลักการป้องกันไว้ก่อนนั้น กิจกรรมที่มีโอกาสจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศจะต้องมีการจำกัดหรือห้ามดำเนินการ ถึงแม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นสาเหตุดังกล่าวก็ตาม เนื่องจากหากรอให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ตลอดจนเทคนิคการวิเคราะห์พัฒนาที่จะทำให้พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนแล้ว ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอาจจะสายเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ หลักการนี้จึงให้โอกาสในการควบคุมกิจกรรมที่มีความเสี่ยงอย่างเนิ่นๆ เช่น การกำหนดให้มีการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับการปล่อย ณ ปี พ.ศ. 2533 ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2543
  2. “หลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง" ทุกประเทศภาคีอนุสัญญาฯ มีพันธกรณีในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอนุสัญญาฯ แบ่งประเทศภาคีต่างๆออกเป็น สองกลุ่มใหญ่ คือ ประเทศในภาคผนวกที่ 1 (Annex I countries) กับกลุ่มประเทศนอกภาคผนวกที่ 1 (Non Annex I countries)
  3. “หลักการสื่อสารด้านข้อมูลข่าวสาร” ประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความโปร่งใส ภายใต้ข้อตกลงที่ว่าต้องมีการจัดทำ รายงานแห่งชาติภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (National Communication under United Nations Framework Convention on Climate Change) ซึ่งมีเงื่อนไขในเรื่องของความสมบูรณ์ของเนื้อหา และระยะเวลา ที่แตกต่างกันระหว่างประเทศในภาคผนวก I และนอกภาคผนวก I
  4. “หลักการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยกว่า” เนื่องจากประเทศที่กำลังพัฒนามีโอกาสเสี่ยงต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูง ดังนั้นหลักการนี้ต้องการให้ประเทศพัฒนาแล้วให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ให้ความสะดวก สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งทางด้านการเงินและเทคโนโลยี กับประเทศกำลังพัฒนาและความช่วยเหลือนี้ต้องเป็นส่วนเพิ่มเติมจากความช่วยเหลือระหว่างประเทศที่ให้อยู่เดิม ปัจจุบัน อนุสัญญาฯ ได้ใช้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกเป็นกลไกหนึ่งในการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วดำเนินนโยบายถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สะอาดให้กับประเทศกำลังพัฒนา
แหล่งข้อมูลอ้างอิงจาก http://www.jgsee.kmutt.ac.th/greenhouse/unfccc/unfccc_2.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น