หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การซื้อขายก๊าซเรือนกระจก(Carbon Credit)

Carbon Credit Trading
ขณะนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเค้ากำลังให้ความ สนใจการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกกัน หรือที่เรียกกัน Carbon Credit เอ..แล้วมันคืออะไรล่ะ.. จริงๆแล้วเรียกว่าการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกตรงตัวก็เห็นจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว จริงๆแล้วมันคือสิ่งทดแทนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั่นเอง ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงตามพิธีสารเกียวโต หรือ Kyoto Protocol นั่นเอง ซึ่งอยู่ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( United Nations Framework Convention On Climate Change : UNFCCC) มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2548 โดยกำหนดให้ประเทศที่พัฒนาแล้วกลุ่มประเทศภาคผนวกที่1 ที่ลงนามไว้ อาทิเช่น สหภาพยุโรป แคนาดา และญี่ปุ่น ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่าระดับก๊าซที่เป็นมลพิษในปี 2533 โดยเฉลี่ย 5.2% ระหว่างปี 2551-2555 หากผู้ที่ร่วมโครงการไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อกำหนดจะต้องมี “บทปรับ” โดยในสหภาพยุโรป มีค่าปรับถึงตันละ 40 ยูโร ตามแผนการลดมลพิษในระยะที่ 1 (2548-2550) และเพิ่มค่าปรับเป็นตันละ 100 ยูโร ตามแผนในระยะที่ 2 (2551-2555) ซึ่งสูงกว่าราคารับซื้อหลายเท่าตัว ซึ่งราคารับซื้อขณะนี้อยู่ ที่11-13€/ton ครับ เทียบกับกรกฎาคมปีที่แล้วอยู่ที่ 30€/ton
สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่มประเทศภาคผนวกที่ 2 ปัจจุบันไม่มีพันธกรณีที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่อย่างได แต่อย่างไรก็ตาม พิธีสารเกียวโต มีกลไกสามประการที่กำหนดไว้ว่าภาคีสมาชิกต้องดำเนินการเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสารเกียวโตได้กำหนดกลไกยืดหยุ่น (FlexibilityMechanisms) ขึ้น 3 กลไก ดังนี้
1. Joint Implementation, JI ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 6
ซึ่งกำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้ว สามารถดำเนินโครงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกันเอง
ระหว่างประเทศในกลุ่ม ภาคผนวกที่ 1 ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ เรียกว่า ERUs (Emission Reduction Units)
2. Clean Development Mechanism, CDM) ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 12 ซึ่งกำหนดให้ประเทศในภาคผนวกที่ 1 สามารถดำเนินโครงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศในกลุ่ม Non-Annex I ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ จะต้องผ่านการรับรอง จึงเรียกว่า CERs (Certified Emission Reduction)
3. Emission Trading, ET ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 17 ซึ่งกำหนดให้ประเทศในภาคผนวกที่ 1 ที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศตามที่กำหนดไว้ได้ สามารถซื้อสิทธิ์การปล่อยจากประเทศในภาคผนวกที่ 1 ด้วยกันเอง ที่มีสิทธิ์การปล่อยเหลือ (อาจเป็นเครดิตที่เหลือจากการทำโครงการ JI และ CDM หรือ สิทธิ์การปล่อยที่เหลือเนื่องจากระบบเศรษฐกิจทำให้ปริมาณการปล่อยในปัจจุบันน้อยกว่าปริมาณการปล่อยเมื่อ ปี ค.ศ.1990จึงมีสิทธิ์การปล่อยเหลือพร้อมที่จะขายได้) เรียกสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะซื้อขายกันนี้ว่า AAUs(Assigned Amount Units)
ประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกมีพันธกรณีในการดำเนินตามกลไกการพัฒนาที่สะอาดหรือ CDM ซึ่งเปิดช่องผ่านกลไกดังกล่าวให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือ ประเทศในกลุ่มภาคผนวกที่ 1 สามารถเข้ามาดำเนินโครงการลด และเลิกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้และให้นำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้เป็น “คาร์บอนเครดิต” โดยไปหักออกจากจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่มีพันธกรณีจะต้องลดลงในประเทศของตัวเอง
เช่น สมมติประเทศ A เป็นประเทศกลุ่มพัฒนาซึ่งอยู่ในภาคผนวกที่ 1มีพันธะที่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 50 ล้านตัน แต่โรงงานอุตสาหกรรมหรือโครงการที่มีในประเทศ A พยายามลดสุด ๆ แล้วลดได้เพียง 30 ล้านตัน จึงต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศกำลังพัฒนามาอีก 20 ล้านตัน ไม่เช่นนั้นจะโดนปรับ ตันละ 3000 บาท หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ประเทศ A จึงติดต่อไปที่ ฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศ B เพื่อช่วยสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ เมื่อสร้างเสร็จทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าฟาร์มหมูลดลงเดือนละ 2 ล้านบาท ถือเป็นการลดจำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม สมมติว่าลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ปีละ 1ล้านตัน จำนวนที่ลดได้ จะถูกเรียกว่า“คาร์บอนเครดิต” ซึ่งประเทศ A จะได้คาร์บอนเครดิต 1 ล้านตันไปรวมกับ ๓๐ ล้านตันที่มีอยู่ หรือในอนาคตฟาร์มหมูที่อยู่ใกล้เคียงอาจใช้เทคโนโลยีเดียวกัน มาลงทุนสร้างโรงงานไฟฟ้าก๊าซชีวภาพเองแล้วขายคาร์บอนเครดิตให้ประเทศ A ก็ได้
ก๊าซเรือนกระจก ก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาผลาญน้ำมันดิบ (fossil fuel) ในโรงงานอุตสาหกรรมหรือยานยนต์ รวมถึงก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก (Green house Gas) เช่น ก๊าซมีเทน (ch4) ที่เกิดจากการเพาะปลูก และ เลี้ยงสัตว์(เฉพาะที่เน่าเปื่อยนะครับ ถึงจะเกิดก๊าซ) อันเป็นสาเหตุภาวะโลกร้อน (Global Warming)หากประเทศพัฒนาแล้วไม่สามารถลดมลพิษของตนได้อีกต่อไป ก็ต้องใช้วิธีช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อลดได้จะกลายเป็นคาร์บอนเครดิตของตนเอง ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าปรับเช่น การปลูกป่าไม้ 2.5 ไร่ จะสามารถเก็บคาร์บอนเครดิตได้ 2 ตัน การใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนน้ำมัน 1 หน่วยจะได้เครดิตประมาณ 0.6 กิโลกรัมซึ่งขณะนี้มีการพัฒนาประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar cell) ให้ดีขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีระดับโมเลกุล (นาโเทคโนโลยี) มาประยุกต์ใช้

การซื้อขาย Carbon Credit ในไทย

ปัจจุบันประเทศไทยค่อนข้างตื่นตัวกับการพัฒนาโครงการรวมทั้งมีความพยายามสร้างโครงการเพื่อรองรับการซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก ดังจะเห็นได้จากมีบริษัทเอกชนหลายแห่งที่เริ่มโครงการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าขอนแก่นในเครือเคเอสแอล เครือปูนซีเมนต์ไทยหรือกลุ่มบริษัทมิตรผลที่ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติให้สามารถซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว และในปัจจุบันประเทศไทยได้มีองค์กรมหาชน ชื่อว่า “องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) พ.ศ. 2550” (Thailand Greenhouse Gas Management Organization,TGO) หรือ มีชื่อย่อว่า อบก. ซึ่งได้มีกฎหมายรองรับองค์กรดังกล่าวแล้ว และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา โดย อบก. มีวัตถุประสงค์หลักในการวิเคราะห์ กลั่นกรอง และทำ
ความเห็นเกี่ยวกับการให้คำรับรองโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกลไกการพัฒนาที่สะอาดรวมทั้งติดตามประเมินผลโครงการที่ได้รับคำรับรอง ส่งเสริมการพัฒนาโครงการและตลาดซื้อขายก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง รวมถึงเป็นศูนย์กลางข้อมูลดำเนินงานและให้การสนับสนุนการดำเนินการด้านก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สุรพงศ์จิระ รัตนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม(JGSEE) ได้ให้กล่าวว่า “ประเทศไทยเองควรมีการเก็บคาร์บอนเครดิตไว้บ้าง เพราะอีก 10 ปีข้างหน้าอาจต้องถูกบังคับให้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน เมื่อถึงเวลานั้นอาจไม่มีคาร์บอนเครดิตเหลือเพราะขายล่วงหน้าให้กับประเทศอื่นหมดแล้ว ราคาที่ขายได้นั้นก็ต่ำกว่าจำนวนที่กำหนดให้จ่ายค่าปรับถ้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่าหลายเท่า ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประเมินสถานการณ์ในอนาคตเผื่อไว้ด้วย นอกจากนี้ควรมีการลดการใช้พลังงานด้านอื่นพร้อมกัน เนื่องจากภาคธุรกิจไทยมีการใช้พลังงานไฟฟ้าสิ้นเปลืองอย่างมาก”
การมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ TGO นับว่าเป็นการส่งเสริมและพัฒนาอีกก้าวหนึ่งของประเทศไทยและการที่องค์กรต่างๆที่ต่างสนใจการซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือ Carbon credit เป็นอย่างมากนั้น นอกจากจะเป็นการช่วยกันลดภาวะโลกร้อนให้สำเร็จตามพิธีสารเกียวโตแล้ว ยังช่วยให้เกิดความตื่นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่จะสรรหาเม็ดเงินให้กับประเทศกำลังพัฒนาต่างๆจากการซื้อขายก๊าซเรือนกระจก แต่ข้อที่พึงระวังคือ ในไม่ช้าประเทศไทยอาจมีพันธกรณีที่ต้องลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก จึงควรสะสมคาร์บอนเครดิตไว้ด้วย ดังนั้น เมื่อมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนแล้ว การบริหารจัดการเรื่องดังกล่าวจึงควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และเป็นที่น่าติดตามว่าการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยจะมีทิศทางไปในลักษณะใดต่อไป
อ้างอิง: www.thaicarboncredit.com
http://www.vcharkarn.com
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ BizWeek รวบรวมโดย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
กลุ่มงานคณะกรรมาธิการ การทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
http://www.jpbestiblog.com/?p=37

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น