หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Carbon Credit กับ CSR

ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ทำให้เกิดกระแสความตื่นตัวในหลายภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะซีกโลกที่พัฒนาแล้วอย่างยุโรปและอเมริกา รวมถึงประเทศต่างๆ ในเอเชีย แต่ผลจากการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 15 (COP15) ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก กลับแสดงให้โลกได้เห็นว่า หลายภาคส่วนของโลกยังคงมองข้ามปัญหา และขาดความรู้ความเข้าใจถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่วิปริตไปจากเดิมว่าแท้ที่จริงแล้วมีสาเหตุมาจากอะไร

            ประชากรหลายประเทศในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้fไม่เข้าใจและไม่สนใจถึงปัญหาภาวะโลกร้อน โดยรู้สึกเป็นเรื่องไกลตัวเนื่องจากปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นภูมิภาคอย่างปัญหาสงคราม ความอดอยาก และปัญหาความยากจน เป็นประเด็นเร่งด่วนกว่าที่จะมีเวลาไปสนใจกับปัญหาสภาวะอากาศ แต่ที่น่าตกใจเห็นจะเป็นความเห็นของชาวอเมริกาจำนวนมากที่มองว่า การโฆษณาให้ร่วมกันป้องกันภาวะโลกร้อนนั้นเป็นเพียงกลยุทธ์ในการค้าของพ่อค้าหัวใสหลายคนที่นำมาเป็นข้ออ้างเพื่อจะได้ขายสินค้า ‘Green Product’ มากกว่าที่จะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างจริงจัง
            การประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกนของผู้แทนจากประเทศสมาชิกของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC และพิธีสารเกียวโต ถือเป็นความล้มเหลวอีกครั้งหนึ่งในความพยายามที่จะกำหนดข้อตกลงร่วมในระดับสูงของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ แม้ว่าจะมีข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่กำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วหรือกลุ่มประเทศภาคผนวกที่ 1 ของกรอบอนุสัญญา (Annex-1) ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก (Green House Effect) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 16 ก.พ. 2549 โดยกำหนดให้ประเทศที่พัฒนาแล้วที่ลงนามไว้ อาทิ สหภาพยุโรป แคนาดา และญี่ปุ่น ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่าระดับก๊าซที่เป็นมลพิษในปี 2533 โดยเฉลี่ย 5.2% ระหว่างปี 2551-2555 ก็ตาม
             แม้ว่าการประชุมที่โคเปนเฮเกนจะประสบความล้มเหลว แต่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้นำของประเทศไทย ยังคงกล่าวย้ำที่จะเดินหน้าแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ตามมาตรการที่ประกาศไว้อย่างจริงจัง ด้วยประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิก มีพันธกรณีในการดำเนินตามกลไกการพัฒนาที่สะอาดหรือ CDM (Clean Development Mechanism) ซึ่งเปิดช่องผ่านกลไกดังกล่าวให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว (Annex-1) สามารถเข้ามาดำเนินโครงการลดและเลิกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Non-Annex-1) ได้ และให้นำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้เป็น “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) โดยไปหักออกจากจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่มีพันธกรณีจะต้องลดลงในประเทศของตนเอง

            หากประเทศที่มีพันธกรณีดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อกำหนด จะต้องมีการปรับ โดยในสหภาพยุโรปนั้น ตามแผนระยะที่ 2 (2551-2555) จะมีค่าปรับสูงถึงตันละ 100 ยูโร  ทำให้เกิดตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นจากความต้องการหลีกเลี่ยงค่าปรับดังกล่าว

            ปัจจุบันประเทศไทยค่อนข้างตื่นตัวกับการพัฒนาโครงการ รวมทั้งมีความพยายามสร้างโครงการเพื่อรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยมีบริษัทเอกชนหลายแห่งที่เริ่มโครงการเหล่านี้ เช่น โรงไฟฟ้าขอนแก่นในเครือเคเอสแอล เครือปูนซีเมนต์ไทย หรือกลุ่มบริษัทมิตรผลที่ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติให้สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้แล้ว และได้มีองค์กรมหาชนชื่อว่า “องค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) พ.ศ.2550” (Thailand Greenhouse Gas Management Organization : TGO) หรือมีชื่อย่อว่า อบก. ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการวิเคราะห์ กลั่นกรอง และทำความเห็นเกี่ยวกับการให้คำรับรองโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตาม CDM รวมทั้งติดตามประเมินผลโครงการที่ได้รับคำรับรอง ส่งเสริมการพัฒนาโครงการและตลาดซื้อขายก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง รวมถึงเป็นศูนย์กลางข้อมูลดำเนินงานและให้การสนับสนุนการดำเนินการด้านก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

            อย่างไรก็ดี แม้ผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตอาจได้รับผลกำไรที่เป็นตัวเงิน แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการช่วยเรื่องการลดภาวะโลกร้อน และถือเป็นการทำ CSR ในมิติของสิ่งแวดล้อม

            ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการองค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า

            “ผมไม่อยากให้มองเรื่องของการได้เม็ดเงินกลับมา นั่นถือเป็นผลพลอยได้ แต่อยากให้มองในมุมของการทำ CSR ผู้ผลิตจะได้ ไม่เพียงแค่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน และการช่วยประหยัดพลังงานแล้ว แต่ยังเป็นการช่วยให้สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบโรงงานดีขึ้น นั่นหมายถึงการอยู่ร่วมกันของทั้งผู้ผลิตและชุมชน ซึ่งมีตัวอย่างหลายบริษัทที่ยื่นเรื่องเข้ามาเพื่อขอทำคาร์บอนเครดิต พอไปสำรวจปรากฏว่าชุมชนรอบข้างยอมรับโรงงานแห่งนี้ เพราะเขามีการช่วยเหลือสังคม มีการช่วยเหลือชุมชน”

            ในปี 2551 ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศไทยสามารถลดลงได้ หรือจำนวนคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นประมาณ 2.94 ล้านตัน/ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท และมีการตั้งเป้าที่จะลดให้ได้ถึง 5 ล้านตัน/ปี ในปี 2552  หรือต้องเพิ่มโครงการ CDM ที่ได้รับการรับรองอีกประมาณ 23 โครงการ

            ทั้งนี้แม้ว่ายังไม่มีการบังคับให้ประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น จีน ไทย อินเดีย ตะวันออกกลางและแอฟริกา ต้องลดจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายในประเทศของตัวเอง แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงอนาคตเมื่อถึงวาระที่เราจำเป็นต้องปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องวางแผนการผลิตและใช้คาร์บอนเครดิตเสียตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่จะขายคาร์บอนเครดิตที่มีทั้งหมดออกไปจนไม่เหลือไว้ใช้ในยามจำเป็น


แหล่งข้อมูล :

ข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ [online]. Available:  http://xchange.teenee.com/index.php?showtopic=55939 [2553, 29 ม.ค.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น